Imagine Dragon
Night Visioins ไม่ใช่แค่เป็นอัลบั้มชุดแรกของอิเมจิน ดรากอนส์ วงดนตรีจากลาส เวกัส ที่ตั้งวงกันมาตั้งแต่ปี 2008 ออกอีพีกับสังกัดเล็กๆ มาก่อนจะได้เซ็นสัญญาออกอัลบั้มชุดนี้กับสังกัดใหญ่ อินเตอร์สโคป แต่ยังเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แจ้งเกิดให้กับวงทั้งในเรื่องคุณภาพและความนิยม
เมื่อพวกเขาคว้ารางวัลแกรมมีมาครอง, เพลง Radioactive ถูกนิตยสารโรลลิง สโตนเลือกให้เป็นเพลงร็อคสุดฮิตแห่งปี ขณะที่เอ็มทีวี ยกให้อิเมจิน ดรากอนส์ เป็นวงดนตรีที่แจ้งเกิดที่ได้ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี แล้วเมื่อมองถึงยอดขาย Nights Visions ทำยอดขายทะลุ 2 ล้านก็อปปี เฉพาะในอเมริกา และทำตัวเลขในระดับแผ่นเสียงทองคำขาวจาก 12 ประเทศ ในช่วงเวลาที่วงการเพลงออกจะหงอยเหงาซบเซา และไม่มีวงร็อควงไหน ที่ประสบความสำเร็จเลยในช่วงเวลา 2-3 ปีมานี้ งานนี้ถือว่า บรรดามังกรช่างฝันกลุ่มนี้ มากู้หน้ากู้ตาให้กับวงการเพลงร็อคก็เลยทีเดียว
และทำให้งานชุดต่อมาของพวกเขา กลายเป็นผลงานที่แฟนเพลงรอคอย คนในธุรกิจดนตรีจับตามอง ว่าจะทำได้ดีเยี่ยมขนาดไหน ล้มเหลวตามสไตล์อาถรรพ์อัลบั้มหมายเลข 2 หรือว่าทำให้อนาคตของพวกเขาทอดยาวต่อไปได้อีก นี่คือโจทย์ที่มีคนตั้ง แต่ไม่จำเป็นที่อิเมจิน ดรากอนส์ต้องตอบ
ทิ้งช่วงห่างจาก Night Visons ราวๆ 2 ปี อิเมจิน ดรากอนส์ ก็ปล่อยงานชุดใหม่ Smoke + Mirrors ออกมา
เนื้องานยังมาเป็นเพลงร็อค ที่ผสมผสานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาอย่างกลมกลืน โดยตัวเพลงมีพื้นของความเป็นป็อปที่แน่นหนาไม่ต่างจากที่ได้ยินใน Night Visions โทนดนตรียังฟังฟุ้งฝัน ล่องลอย ในอารมณ์แบบงานเทพนิยาย ที่มีความเป็นแฟนตาซีในตัว แต่ก็สัมผัสได้ว่า อิเมจิน ดรากอน มาพร้อมกับงานดนตรีที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะภาคของจังหวะ ที่หากไม่ฟังดูใหญ่ก็ถูกขับเน้นให้โดดเด่น รวมไปถึงมีจังหวะจะโคนที่สะดุดหู หรือเติมแต่งด้วยซาวนด์แปลกๆ ที่ทำให้มีเสน่ห์กว่าเดิม เป็นงานที่ต่อยอดจากสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในตัวของพวกเขา ซาวนด์ริธึม และการสร้างบรรยากาศฝันๆ
ด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ลอยๆ บีทแข็งแรง และมีอารมณ์แบบร็อค อย่างนี้ ส่งให้ Smoke + Mirrors มีโทนแบบงานยุค 80s ชัดเจน โดยบางเพลงอย่าง เพลงที่เป็นชื่อชุด ก็ทำให้นึกถึงวงเทคโน-ป็อปในยุคนั้น อย่าง อะ-ฮ่า ขึ้นมาในทันที หรือ Shots เพลงเปิดอัลบั้ม ก็ราวก็พาพวกเจ้าพ่อซินธิไซเซอร์มาเล่นแบ็คอัพให้ แต่ในแต่ละเพลงของพวกเขา ต่างก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลดนตรีแนวทางต่างๆ ที่พวกเขาซึมซับ รับเข้า และปล่อยออกมา ไม่ว่าจะเป็นจังหวะจะโคนแบบคันทรีสนุกๆ บวกริฟฟ์กีตาร์แบบฮาร์ดร็อคจาก I’m So Sorry, โฟลค์-ร็อคแบบเดียวกับที่ฟลีท ฟ็อกเซสรับมา ใน Trouble, นู-เมทัลกับ Friction, ขณะที่ The Fall ก็มีซาวนด์ของงานเทคโนป็อปยุค 80s, ส่วน I Bet My Life อิเมจิน ดรากอนส์ ก็พาไปไกลถึงดนตรีเวิร์ดล์ มิวสิคกันเลยมีเดียว ซึ่งแต่ละเพลงก็แม่น คมในแนวทาง และทำได้ดีในตัวเอง
หากรายละเอียดที่หลากหลาย รวมไปถึงการใช้ซาวนด์ที่มีความแตกต่างกันไป ทำให้ไม่แปลก ที่ Smoke + Mirros จะให้การขับเคลื่อนที่ไม่ราบลื่นนัก กับการเปลี่ยนผ่านจากเพลงหนึ่งไปสู่อีกเพลงหนึ่ง ซึ่งกับการฟังเป็นอัลบั้มนั้น อาจจะไม่สนุก หากคิดจะฟังกันอย่างจริงๆ จัง ๆ แต่กับการฟังแบบทั่วๆ ไป เปิดอัลบั้มแล้วปล่อยผ่าน Smoke + Mirrors น่าจะรื่นรมย์ได้มากว่า
แต่ที่ลืมไม่ได้ก็คือ ด้วยความลงตัว และการที่แต่ละเพลงมีเสน่ห์ และแรงดึงดูดเฉพาะ รวมทั้งความเป็นป็อปในตัวที่ชัดเจน ทำให้ Smoke + Mirrors ดูจะเป็นอัลบั้มแบบรวมงานซิงเกิลมากกว่าจะเป็นอัลบั้มกลมกลืนกันในภาพรวมสำหรับงานในส่วนของดนตรี ไม่ว่าจะเป็น Shots, I Bet My Life, It Comes Back to You, Summer, Smoke + Mirrors หรือ Friction ซึ่งก็มากเกือบเกินครึ่งของงานชุดนี้แล้ว ล้วนมีกำลังมากพอที่จะเป็นซิงเกิล และพายอดขายอัลบั้มชุดนี้ไปข้างหน้าได้ไม่ยาก
เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีของ แต่ก็เห็นได้ชัดเช่นกันว่า ยังอยู่ในช่วงพลุ่งพล่าน งานเลยเป็นอัลบั้มที่มีเพลงพร้อมฮิตเพียบ แต่ฟังไม่เรียบลื่นอย่างที่เห็น
จากเรื่อง อัลบั้มรวมเพลงพร้อมฮิต ด้วยพลังศิลปินที่พลุ่งพล่าน โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสาร สีสัน
(ที่มา : http://www.sadaos.com/ )