ส่องโครงการจากสาวงามเวที MISS THAILAND WORLD

Date:  1/09/2023   |   View:  582

เรียกได้ว่าการกลับมาของเวทีการประกวด Miss Thailand World  กำลังเป็นกระแสที่หลาย ๆ คนต่างให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย ซึ่งปี 2023 นี้ Miss Thailand World กลับมาพร้อมกับแนวคิด REAL BEAUTY EMPOWERS ‘งามอย่างมีคุณค่า’ ไม่ใช่แค่ความสวยเท่านั้นที่จะจับใจจู แต่ทุกคนล้วนต้องมีคุณค่าในแบบของตัวเอง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น เช่นเดียวกันกับสาวงามหลายคนที่นอกจากจะสวยสมมง สมตำแหน่งแล้ว ยังมีโครงการดี ๆ เพื่อสังคมอีกด้วย วันนี้เราจะพามาส่องโครงการจากสาวงามเวที Miss Thailand World ปีต่าง ๆ แต่ละคนจะมีโครงการเพื่อสังคมที่น่าสนใจอะไรบ้าง ไปดูกันเลย !

 

1. โครงการ Love for all จาก นิโคลีน - พิชาภา ลิมศนุกาญจน์  Miss Thailand World 2018

 

โครงการ Love for all เป็นโครงการเพื่อเด็กออทิสติกและเด็กด้อยโอกาส สอนการฝึกอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน พัฒนาให้พวกเขามีโอกาสทำงานและใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ Equality (ความเท่าเทียม), Acceptance (การยอมรับ), และ Humanity (มนุษยธรรม) 

 

 

นิโคลีนได้แรงบันดาลใจ และแรงผลักดันสำคัญ จาก‘ภาวะออทิสติก’ ของน้องชาย ซึ่งได้ริเริ่มโครงการ Love for all โดยหวังสนับสนุนศักยภาพและความสามารถของเด็กออทิสติก รวมถึงเด็กด้อยโอกาส ให้มีโอกาสทัดเทียมกับผู้อื่น

 

ซึ่งเมื่อครั้งประกวด Miss world ปี 2018 ก็ทำให้เหล่าสาวงามจากชาติอื่น ๆ ต่างประทับใจในโครงการ Love for all มาก โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นชุดราตรีเพนต์ลายที่นิโคลีนสวมใส่ในการแข่งขันรอบ Top Model ซึ่งเป็นฝีมือจากน้อง ๆ ออทิสติก 4 คน ได้แก่ หนุ่ม, ทิว, นุ้ย, กาญ และแชมป์ จาก กลุ่ม Art story มูลนิธิออทิสติกไทย ช่วยกันสร้างสรรค์ลายเพ้นท์บนผืนผ้า ในคอนเซ็ปท์ ความรัก ในทุกสรรพสิ่ง หรือ Love for All ซึ่งน้อง ๆ ได้แปลความหมายด้วย ภาพ ที่มีทั้งมวลดอกไม้ ผีเสื้อ ดวงใจ และการเชื่อมต่อที่สะท้อนถึงความรัก ความปรารถนาที่มีต่อกันและกันของทุกชีวิตในโลก ก่อนจะถูกนำเไปตัดเย็บเป็นชุดราตรีงดงาม

 

 

 

 

นิโคลีนกล่าวว่าชุดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเด็กออทิสติกมีความสามารถและศักยภาพหากได้รับการสนับสนุน และถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมากที่มีสาวงามจากประเทศอื่น ๆ ริเริ่มโครงการในลักษณะคล้ายกัน

 

 

2. โครงการอาสา Let Me Hear You จาก เกรซ - นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ Miss Thailand World 2019

 

โครงการอาสา Let Me Hear You เป็นโครงการที่ต้องการรณรงค์ให้คนในสังคมรับบทบาทการเป็นผู้ฟังที่ดีให้มากขึ้น โดยเริ่มจากคนในครอบครัว และเพื่อนสนิทในสถานศึกษา หรือที่ทำงาน หวังว่าการเป็นผู้ฟังจะช่วยให้ผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล หรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ได้ระบายความทุกข์ใจ และมีกำลังใจ ในการใช้ชีวิตมากขึ้น ส่งผลไปยังเป้าหมายสูงสุด คือ การลดการสูญเสียในสังคม และลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทย

 

ซึ่งเกรซ นรินทรยังได้ขึ้นแท่นเป็น ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์กรมสุขภาพจิต’ คนแรกทำหน้าที่เป็นทูตด้านสุขภาพเพื่อช่วยให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น พร้อมกับนำโครงการ Let Me Hear You นำมาต่อยอดในระยะยาว โดยมีความเชื่อมั่นว่า จะเป็นโครงการช่วยเหลือสุขภาพจิตคนไทยได้เป็นอย่างดีในวันเปิดตัวโครงการ Let Me Hear You เกรซได้เข้าร่วมเป็นจิตอาสาอบรมการเป็นผู้ฟังที่ดี พร้อมกับเครือข่ายจิตอาสาอีก 50 คน ในกิจกรรม ‘Workshop สร้างจิตอาสาผู้ฟังที่ดี สู่สังคมไทย’ เรียนรู้เทคนิคการเป็นผู้ฟังที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปต่อยอดช่วยเหลือคนในสังคมที่มีคสามเครียด และขาดคนรับฟัง รวมทั้งได้เข้าร่วมวงเสวนาให้ความรู้ในกิจกรรม ‘Listen in the garden เสวนาด้วยหัวใจ..สร้างคนไทยเป็นผู้ฟัง’ และเป็นผู้บรรยายแนวทางทำกิจกรรม ‘Let Me Hear You’ เพื่อช่วยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการเป็นผู้รับฟังที่ดีลดการฆ่าตัวตายในสังคมไทย

 

การเป็นผู้ฟังที่ดีสำคัญที่สุด คือ ต้องมีใจที่พร้อมเปิดรับฟัง จับความรู้สึกของผู้พูด และยอมรับอย่างไม่มีอคติ เธอกล่าวว่า  "ต้องตั้งใจฟังโดยไม่พูดแทรก เมื่อเรารับฟังเขาโดยไม่ตัดสินเขา ไม่เอาสิ่งที่เราคิด ความเชื่อ ค่านิยมต่าง ๆ ไปตัดสิน จะทำให้เราเข้าใจเขาได้มากยิ่งขึ้น อีกอย่างหนึ่งเราต้องสามารถทำให้เขาไว้ใจได้ เขาสามารถพูดกับคน คนนี้ได้ รับฟังโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าเขาถูกหรือผิด ฟังโดยที่เราไม่ไปบอกเขาว่า คุณควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแค่รับฟังรอให้เขาพูดจบ และแค่บอกว่าเรื่องมันมาเป็นแบบนี้ ๆ เป็นการสะท้อนว่าที่เขาพูดมาเป็นแบบนี้ไหม แล้วเขาจะรู้ตัวเขาเอง บางทีคนเราเข้าใจผิด คุณเก่งมาก และคอยชี้แนะคนอื่นต้องทำอย่างไร มีช้อยส์ให้เลือกโน่นนี่นั่น แต่ความจริงมันไม่ใช่ เราแค่รับฟังและชวนให้เขาคิดตามว่า เรื่องราวของเขาเอง เขาจะมีวิธีแก้ไขแบบไหนของเขาได้บ้าง"เกรซ ทิ้งท้ายว่า ทุกคนมีวิธีแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถชี้นำผู้อื่นได้ ว่าควรทำอย่างไรถึงจะดี หน้าที่ของผู้ฟัง คือ แค่รับฟัง 

 

3. โครงการ Music Reach Out จาก เนิส - ดุสิตา ทิพโกมุท รองอันดับ 2 Miss Thailand World 2019 

 

โครงการจิตอาสา Music Reach Out เป็นโครงการที่เนิส ดุสิตาทำร่วมกับเพจครูอาสาบนดอยสูง ซึ่งจะทำหน้าที่ครูจิตอาสา พร้อม Backpack ขึ้นดอย  ลงพื้นที่มอบความรู้ให้กับน้อง ๆ โรงเรียนบ้านแม่ฮ่องกลาง ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยบรรยากาศอบอวนไปด้วยรอยยิ้ม ความสนุกสนาน และเด็ก ๆ ยังได้รับความรู้มากมายจากโครงการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อีกด้วย

 

 

โครงการ Music Reach Out เป็นโครงการที่เนิส ดุสิตา จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาด้านการศึกษา การดูแลจิตใจให้กับเด็ก ๆ และพัฒนาเยาวชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยโครงการนี้จะใช้เสียงเพลงเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงกับเด็ก ซึ่งจะดึงทักษะทางการเล่นดนตรีของเธอ มาใช้ดึงความสนใจให้เด็กก่อนเข้าเรียนในเนื้อหา เช่น เล่นดนตรี ร้องเพลง และวาดภาพ และยังผสมผสานการเรียนรู้แบบ Creative Thinking เข้าไป โดยผ่านการวาดภาพจากคำศัพท์ ที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ เพื่อให้เด็กรู้สึกอยากเรียน ไม่ใช่ให้เด็กรู้สึกว่าเรียนเพราะต้องเรียน และการเปิดใจเด็ก ๆ ด้วยกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เห็นว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร ใครไม่ชอบใคร ปิดท้ายห้องเรียนด้วยการทำสมาธิ และทำให้เด็กรู้ถึงความสำคัญของเพื่อน และการแบ่งแยกในห้องเรียนจะลดลงไป และเห็นปัญหาของเด็กชัดเจนมากขึ้น